การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในงานคุมประพฤติ

          กระบวนการแก้ไขฟื้นฟู (Rehabilitation) ถือเป็นหัวใจสำคัญของงานคุมประพฤติ หลักการทำงานแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเชื่อว่าการกระทำของผู้กระทำผิดเป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ ปัจจัยทางจิตวิทยา ปัจจัยทางชีวภาพและปัจจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม ซึ่งแตกต่างกันไปแต่ละบุคคล การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดต้องพิจารณาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดการกระทำผิด และการแก้ไขที่สาเหตุของการกระทำผิดนั้นๆ โดยเน้นที่การศึกษาผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคลหรือการจำแนกลักษณะ เพื่อหาสาเหตุของการกระทำผิดและแนวทางแก้ไข การค้นหาปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการกระทำผิด โดยพิจารณาทั้งด้านพฤติกรรม (Behavior) อารมณ์ความรู้สึก (Emotion) ความคิดความเชื่อ (Cognitive) เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์จำแนกตามสภาพปัญหาและความต้องการของผู้ถูกคุมความประพฤติว่า ผู้ถูกคุมความประพฤติรายใดมีสภาพปัญหา และ/หรือความต้องการในด้านใด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและจัดกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูเพื่อติดตามสอดส่อง ควบคุมดูแล เยียวยาแก้ไขและให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้ถูกคุมความประพฤติแต่ละราย

ความหมายของการแก้ไขฟื้นฟู

ความหมายของการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ปรับปรุงเจตคติ ความรู้สึก ความคิดและพฤติกรรมของผู้กระทำผิดให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมโดยปกติสุข ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก โดยพนักงานคุมประพฤติจะคอยดูแล สอดส่อง ช่วยเหลือด้วยวิธีการต่างๆทั้งทางด้านจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ และศาสตร์สาขาอื่นๆ เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน

วัตถุประสงค์ของการแก้ไขฟื้นฟู

วัตถุประสงค์ของการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเป็นขั้นตอนการปฏิบัติงานหลังจากพนักงานคุมประพฤติ  ได้วิเคราะห์และวางแผนแล้วว่า ผู้ถูกคุมความประพฤติแต่ละรายควรได้รับการแก้ไขฟื้นฟูอย่างไรจึงเหมาะสมและดำเนินการจัดกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูหรือดำเนินโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูตามแผนที่กำหนดไว้ การแก้ไขฟื้นฟูมีวัตถุประสงค์

          ๑. เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขพฤติกรรมของผู้ถูกคุมความประพฤติให้เป็นไปในทางที่พึงปรารถนา

          ๒. เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพชีวิต

          ๓. เพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกคุมความประพฤติกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

การจัดกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟู

          รูปแบบกิจกรรมในกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูมีทั้งการช่วยเหลือเป็นปัจเจกบุคคล และการช่วยเหลือแบบกลุ่ม โดยแบบปัจเจกบุคคล มักเป็นกระบวนการเร่งด่วนสำหรับผู้มีปัญหาเฉพาะด้านที่จะต้องแก้ไข สำหรับแบบกลุ่มนั้นเป็นวิธีการที่ใช้อย่างกว้างขวางในการส่งเสริมศักยภาพของบุคคล กระบวนการกลุ่มมีลักษณะเด่นที่สำคัญคือการสนับสนุนให้กำลังใจของสมาชิกกลุ่ม(Group support) ที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่การปรับตัวเข้าสู่ครอบครัว ชุมชน สังคมต่อไป 

                    การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในงานคุมประพฤติ มีกิจกรรมและโปรแกรมในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด โดยบูรณาการความรู้ทักษะของนักวิชาชีพ (Profession) ที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ด้านจิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์  สังคมสงเคราะห์  ศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นในการจัดกิจกรรมและโปรแกรมต่างๆ ซึ่งกิจกรรมการแก้ไขฟื้นฟูรายบุคคลเป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติแต่ละรายตามตามความจำเป็นและเหมาะสมได้แก่ การให้การปรึกษารายบุคคล/ครอบครัว การให้การศึกษา การยืมทุนประกอบอาชีพ  การส่งเสริมการมีงานทำ การฝึกอาชีพ การสงเคราะห์ด้านการพยาบาล การสงเคราะห์ค่าพาหนะ  การสงเคราะห์ค่าอาหาร การทำงานบริการสังคมรายบุคคล นอกจากนี้การแก้ไขฟื้นฟูด้วยกิจกรรมที่จัดเป็นกลุ่ม ได้แก่ การอบรมแก่ผู้ถูกคุมความประพฤติ ซึ่งจะจัดให้ความรู้ตามหลักสูตรและโปรแกรมต่างๆ การอบรมธรรมะ ค่ายจริยธรรม การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม ค่ายยาเสพติด เป็นต้น กิจกรรมการแก้ไขฟื้นฟูดังกล่าวมีดังต่อไปนี้

             ๑. การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา  เป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้รับการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา (counseling) ด้วยการใช้เทคนิคการให้คำปรึกษาต่างๆประกอบกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีสาเหตุจากลักษณะจิตใจ สุขภาพจิต บุคลิกภาพ แรงจูงใจ ทัศนคติ ค่านิยม ตลอดจนพฤติกรรมทางสังคมต่างๆ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต โดยมีพนักงานคุมประพฤติหรือผู้ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะเป็นผู้ดำเนินการ สามารถจัดได้ ๒ รูปแบบ ดังนี้

               ๑.๑ การให้คำปรึกษาแบบรายบุคคล  (Individual Counseling) เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติสามารถเข้าใจตนเอง (Self understanding) ยอมรับตนเอง (Self acceptance) สามารถตีความปฏิสัมพันธ์กับสังคม สิ่งแวดล้อม ที่มีอิทธิพลต่อตนเองต่อสังคมรอบข้าง มองเห็นทางเลือก และนำไปสู่การคิดตัดสินใจด้วยตนเอง (Self determinism)

               ๑.๒ การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม (Group Counseling) กระบวนการกลุ่ม (Group Process) และบรรยากาศของความสัมพันธ์ภายในกลุ่มมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ การแสดงออกทางด้านอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยตนเอง  และการสะท้อนกลับของสมาชิกกลุ่ม ดังนั้นบทบาทของผู้นำกลุ่มจะต้องเป็นผู้ที่เอื้อให้มีการเคลื่อนไหวภายในกลุ่ม

             ๒.  กิจกรรมการอบรม  มีรูปแบบวิธีการของการดำเนินการเป็นการบรรยาย การอภิปราย  โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก  จำนวนผู้เข้าร่วมขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่จะให้เรียนรู้ วิทยากรผู้ให้ความรู้มีทั้งจากภายนอกและภายในหน่วยงาน  ซึ่งแบ่งการอบรมได้ดังนี้

               ๒.๑ กิจกรรมการอบรมความรู้ในด้านต่างๆ เป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติที่สมควรได้รับการเสริมสร้างหรือพัฒนาความรู้หรือความเข้าใจ รวมทั้งทัศนคติและทักษะความชำนาญ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เน้นในด้านการรู้คิด (cognition) เป็นสำคัญให้ได้เข้ารับการถ่ายทอดอบรมความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ จากวิทยากรหรือผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นไปตามที่กำหนดเป็นวัตถุประสงค์ของการอบรมความรู้นั้นๆ กิจกรรมการอบรมความรู้และระยะเวลาที่ใช้ ตลอดจนรูปแบบวิธีการของการอบรมความรู้จะมีลักษณะที่แตกต่างกันตามเนื้อหาหลักสูตรที่กำหนดไว้ของแต่ละหลักสูตร โดยมุ่งเน้นที่การสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจ และเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ตระหนักในบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม นำไปสู่ผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ถูกคุมความประพฤติตามวัตถุประสงค์ของการอบรมความรู้ที่กำหนดไว้ เช่นความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด กฎหมายทั่วไป กฎจราจร การประกอบอาชีพ เป็นต้น

               ๒.๒ กิจกรรมการอบรมธรรมะ  เป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติที่สมควรได้รับการขัดเกลาจิตใจด้วยหลักธรรมคำสอนทางศาสนาตามที่ตนนับถือ ให้ได้รับการสั่งสอนอบรมด้วยหลักธรรมทางศาสนา เพื่อให้มีแนวทางในการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง สามารถดำรงตนในสังคมในฐานะพลเมืองที่ดีโดยจะจัดให้มีการบรรยายหลักธรรมะหรือฝึกปฏิบัติธรรมแก่ผู้ถูกคุมความประพฤติเป็นกลุ่มๆ จำนวนหนึ่งตามที่ได้กำหนดนัดหมายไว้ ครั้งละ ๑-๓ ชั่วโมง ส่วนใหญ่มักจะให้จัดขึ้นที่วัดหรือศาสนสถาน สำหรับหลักธรรมะที่จะกำหนดขึ้นเป็นหัวข้อในการบรรยายอบรมแต่ละครั้ง จะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและบริบทที่เกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตามจะครอบคลุมสาระสำคัญของหลักธรรมะที่จะช่วยให้ผู้ถูกคุมความประพฤติสามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันในแบบของผู้ครองเรือนได้ ทั้งนี้โดยที่สำนักงานคุมประพฤติจะเป็นผู้กำหนดหัวข้อและพิจารณานิมนต์พระสงฆ์หรือเชิญผู้นำทางศาสนาต่างๆ มาให้การอบรมธรรมะตามแผนการจัดกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูที่กำหนดไว้

             ๓. โปรมแกรมค่าย มีรูปแบบวิธีดำเนินการให้มีการใช้ชีวิตร่วมกันเป็นกลุ่มในลักษณะการเข้าค่าย อาจเป็นระยะเวลา ๓-๕ วัน ในระหว่างกิจกรรมจะต้องประพฤติปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้และเข้าร่วมกิจกรรมตามตารางกิจกรรมที่กำหนด โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะวิทยากรและพนักงานคุมประพฤติผู้รับผิดชอบ ซึ่งมีโปรแกรมค่ายดังนี้

               ๓.๑ ค่ายจริยธรรม เป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติที่สมควรได้รับการปรับปรุงพฤตินิสัยด้วยการอาศัยหลักธรรมทางศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและใช้การปฏิบัติตามศาสนวิถีเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนและพัฒนาจิตใจอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ ให้ได้เข้ารับการอบรมฝึกฝนด้วยกิจกรรมการให้ความรู้และฝึกปฏิบัติตามหลักธรรมของแต่ละศาสนา โดยกำหนดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มในลักษณะของการเข้าค่ายที่วัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมหรือศาสนสถานที่สำนักงานคุมประพฤติได้มีการประสานงานและเตรียมการรองรับไว้แล้ว

               ๓.๒ ค่ายยาเสพติด ใช้แนวคิดในการปรับเปลี่ยนการรู้คิดเพื่อปรับพฤติกรรม (cognitive – behavioral  approach) สามารถแยกรูปแบบของค่ายได้ดังนี้

                                        - ค่ายยาเสพติดสำหรับผู้เสพ/ผู้ติด เป็นค่ายยาเสพติด สำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติและครอบครัว (ค่ายก้าวใหม่) เป็นการประยุกต์กิจกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบ Matrix Programผนวกกับการแก้ไขฟื้นฟูตามแนว Reality Therapy และการแก้ไขฟื้นฟูตามหลักธรรมของแต่ละศาสนา โดยมีหลักสูตรครอบคลุมการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านร่างกาย จิตใจและสังคมที่เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการติดยาเสพติด ความรู้และทักษะการป้องกันการหวนกลับไปเสพซ้ำและเลิกยาเสพติดในระยะเริ่มต้น การให้การสนับสนุนทางสังคมและการส่งเสริมบทบาทของครอบครัวในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนจัดให้มีการฝึกฝนระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีคุณภาพ ค่ายยาเสพติดกรณีนี้สามารถใช้เป็นกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูสำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติที่เป็นผู้เสพ/ผู้ติดที่มีระดับความรุนแรงของการเสพติดในระดับต่ำ-ปานกลางและอยู่ในวิสัยที่จะสามารถควบคุมตัวเองให้เลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ด้วยตนเอง

                                        - ค่ายยาเสพติดสำหรับผู้ค้ารายย่อย  เป็นการประยุกต์ใช้กิจกรรมการแก้ไขฟื้นฟูที่มุ่งสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม/ชุมชนอย่างเข้มข้น เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติละเลิกการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในฐานะของผู้ค้ารายย่อยหรือรับจ้างซื้อยาเสพติด ค่ายยาเสพติดกรณีนี้สามารถใช้เป็นกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูสำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติที่เป็นผู้ค้าและรับจ้างซื้อยาเสพติด เพื่อป้องกันการหวนกลับไปกระทำผิดในลักษณะเดิมอีก

             ๔. กิจกรรมกลุ่มเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู เป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มุ่งป้องกันการกระทำผิดซ้ำ  ลดพฤติกรรมเสี่ยง/มีพฤติกรรมที่พึงปรารถนา มีทักษะชีวิตที่จำเป็นและมีสัมพันธภาพที่ดีกับครอบครัวและผู้อื่น กิจกรรมกลุ่มเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ชุดกิจกรรม ดังนี้

                    (๑) โปรแกรมพื้นฐาน เป็นโปรแกรมที่กำหนดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติทุกคนต้องเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟู โดยประกอบด้วยกิจกรรมกลุ่มที่มุ่งแก้ไขฟื้นฟูในด้านการเห็นคุณค่าตนเอง การมีเป้าหมายชีวิต การตระหนักรู้ตนเองและการตระหนักรู้ปัจจัยเสี่ยง และปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว

                    (๒) โปรแกรมปัญหาเฉพาะด้าน เป็นโปรแกรมเฉพาะสำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติที่มีปัญหาในด้านนั้นๆ โดยประกอบด้วยกิจกรรมกลุ่มที่มุ่งแก้ไขฟื้นฟูเฉพาะด้านนั้นๆ ได้แก่ ความรู้สึกรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม การจัดการกับอารมณ์ ทักษะการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ ทักษะการปฏิเสธและการสื่อสาร การสร้างสัมพันธภาพและเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหา

                    ทั้งนี้โดยพนักงานคุมประพฤติจะได้นัดหมายให้ผู้ถูกคุมความประพฤติเข้าร่วมกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูพื้นฐานและเฉพาะด้านตามที่กำหนดเป็นคราวๆ ต่อเนื่องกันไปจนครบตามแผนการแก้ไขฟื้นฟูที่กำหนดไว้ของผู้ถูกคุมความประพฤติแต่ละราย โดยมีการจัดทำโปรแกรมตามกลุ่มเป้าหมายดังนี้

                         ๔.๑ โปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูผู้เสพ/ติดยาเสพติด

                         ๔.๒ โปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติที่เป็นเด็กและเยาวชน

                         ๔.๓ โปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูผู้ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก

             ๕. โปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดคดีจราจร(ขับรถขณะเมาสุรา) เป็นการจัดกิจกรรมในรูปแบบกลุ่ม มีการบรรยายความรู้ การสาธิต และการบำเพ็ญประโยชน์ โดยมีสาระครอบคลุมการแก้ไขฟื้นฟู ๒ ด้านใหญ่ๆ คือ

                         ๑) กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างด้านความรู้ (รู้ไว้ ไม่ทำผิดอีก) เป็นกิจกรรมที่ใช้การช่วยเหลือ พัฒนาส่งเสริมความรู้ให้กับผู้ถูกคุมความประพฤติ เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำผิดซ้ำ ประกอบด้วย แผนการจัดกิจกรรม ๓ ด้าน คือ

                              - ความรู้เกี่ยวกับจราจร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ถูกคุมฯทราบถึงกฎหมายจราจรที่ควรรู้ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโทษในการฝ่าฝืนกฎหมาย  

                              -  ความรู้เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ เพื่อให้ผู้ถูกคุมฯได้รับความรู้เกี่ยวกับผลเสียจากการดื่ม และปริมาณการดื่มที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

                              - ความรู้เกี่ยวกับการลด เลิกแอลกอฮอล์ เพื่อการวางแผนและมีแนวทางการลดและเลิกแอลกอฮอล์

                         ๒) กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างด้านจิตสำนึก (เพื่อเธอ เพื่อฉัน เพื่อสังคม) เป็นกิจกรรมส่งเสริมสร้างจิตสำนึก เพื่อให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม ประกอบด้วยกิจกรรม ๓ ด้าน คือ

                              - การอบรมและการอบรมธรรมะ เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกด้วยกระบวนการกลุ่ม  จัดเวทีเสวนา เรื่อง เสียงสะท้อนจากเหยื่อเมาแล้วขับ

                              - การทำงานบริการสังคม เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความปลอดภัย และความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว สังคม

                              - การรณรงค์ เพื่อสร้างจิตสำนึกและตระหนักถึงอันตรายของอุบัติเหตุ

             ๖. การส่งต่อไปเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟู เป็นการปฏิบัติงานของพนักงานคุมประพฤติ ในกรณีที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้รับการแก้ไขฟื้นฟูด้วยโปรแกรมหรือวิธีการใด  แต่สำนักงานคุมประพฤติไม่สามารถดำเนินการตามโปรแกรมหรือวิธีการนั้นๆ เองได้โดยตรง หากต้องจัดส่งผู้ถูกคุมความประพฤติไปเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูตามโปรแกรมหรือวิธีการดังกล่าวจากหน่วยงานหรือสถาบันอื่นๆ เช่น โปรแกรมจิตบำบัดโดยนักจิตวิทยาในสถาบันจิตเวช โปรแกรมบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุรา โปรแกรมครอบครัวบำบัดโดยนักจิตวิทยาศูนย์สุขภาพจิต เป็นต้น พนักงานคุมประพฤติจึงต้องดำเนินการประสานงานส่งต่อผู้ถูกคุมความประพฤติไปเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูตามโปรแกรมหรือวิธีการที่หน่วยงานหรือสถาบันอื่นกำหนดนั้น

             ๗. การฝึกอบรมอาชีพเป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติที่มีความต้องการฝึกหัดวิชาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ารับการฝึกหัดวิชาชีพตามความสนใจหรือความต้องการนั้น ซึ่งอาจเป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติไปเข้ารับการฝึกอาชีพในหลักสูตรที่สถาบันหรือหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ศูนย์ฝึกอาชีพ เป็นต้น หรือสำนักงานคุมประพฤติอาจประสานงานจัดหาวิทยากรมาทำการสอนวิชาชีพให้กับกลุ่มผู้ถูกคุมความประพฤติที่มีความสนใจหรือต้องการฝึกวิชาชีพนั้นพร้อมๆ กันเป็นคราวๆ ไป

            ๘. การแนะนำงานอาชีพ เป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติที่ว่างงานหรือต้องการหางานอาชีพใหม่ ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแหล่งงานอาชีพและการจ้างงานจากกิจกรรมการแนะนำงานอาชีพนั้น ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวอาจเป็นการจัดโดยสถาบันหรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อแนะนำงานอาชีพโดยตรง หรือสำนักงานคุมประพฤติประสานงานให้วิทยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นสำนักงานจัดหางานจังหวัด  เป็นผู้มาให้คำแนะนำงานอาชีพแก่กลุ่มผู้ถูกคุมความประพฤติพร้อมๆ กันในคราวเดียวก็ได้

           ๙. การจัดให้ทำงานบริการสังคมเป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แก่สังคม ชุมชน หรือองค์กรสาธารณะกุศล โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือค่าจ้าง ทั้งนี้โดยความยินยอมของผู้ถูกคุมความประพฤติและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร โดยมีการกำหนดประเภท/ลักษณะของงานที่ปลอดภัยเหมาะสมกับเพศ วัยและสมรรถนะของผู้ถูกคุมความประพฤติ การจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานบริการสังคมนี้ถือเป็นกิจกรรมการแก้ไขฟื้นฟูรูปแบบหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ถูกคุมความประพฤติตระหนักและมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อผู้อื่นและสังคมมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาความภาคภูมิใจและคุณค่าแห่งตนเองและเสริมสร้างวินัยของผู้ถูกคุมความประพฤติได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังจะเป็นการช่วยให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับส่วนรวมจากการกระทำผิดของตนด้วยการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมโดยส่วนรวมนั้น

          ๑๐. การสงเคราะห์ เป็นการปฏิบัติงานของพนักงานคุมประพฤติในการให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือแก่ผู้ถูกคุมความประพฤติในด้านต่างๆ ในระหว่างการคุมความประพฤติ การให้การสงเคราะห์ดังกล่าวแยกเป็นการให้การสงเคราะห์ในด้านต่างๆ เช่น การสงเคราะห์ค่าพาหนะ  การสงเคราะห์ค่าอาหาร  การสงเคราะห์ด้านการศึกษา การสงเคราะห์เงินทุนประกอบอาชีพ เป็นต้น

             ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จในการแก้ไขฟื้นฟู คือ ความร่วมมือของผู้ถูกคุมความประพฤติ ครอบครัว บุคคลใกล้ชิด และชุมชน ซึ่งสามารถสนับสนุนช่วยเหลือให้ผู้ถูกคุมความประพฤติปรับตัวและปรับปรุงแก้ไขพฤตินิสัยให้เป็นพลเมืองดี มีการประพฤติปฏิบัติที่เป็นไปในทางที่พึงปรารถนาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้สามารถดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข ดังนั้น การปฏิบัติงานของพนักงานคุมประพฤติจึงอาจมีการปฏิบัติงานในรายละเอียดอื่นๆ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงไว้ได้อย่างไม่จำกัด โดยที่สามารถยืดหยุ่นและมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างออกไปได้ขึ้นอยู่กับบริบทและรายละเอียดของผู้ถูกคุมความประพฤติแต่ละรายนั้น ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เป้าหมายเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติให้กลับตนเป็นพลเมืองดีเป็นสำคัญ

ผู้บริหาร

 นายพิพัฒน์ ว่องธีรกิจโกศล
ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดภูเก็ต

 

    มี 276 ผู้มาเยือน และ ออนไลน์

  ผู้เยี่ยมชมวันนี้ 5
  ผู้เยี่ยมชมเมื่อวานนี้ 25
  ผู้เยี่ยมชมสัปดาห์นี้ 227
  ผู้เยี่ยมชมเดือนนี้ 57
  ยอดผู้เยี่ยมชม 40244