ภารกิจกรม

1.การคุมประพฤติ

      1.1 งานแสวงหาข้อเท็จจริง (สืบเสาะและพินิจ)

           งานแสวงหาข้อเท็จจริงเป็นกระบวนการสืบเสาะและพินิจและการสืบเสาะข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประวัติภูมิหลังทางสังคม และพฤติการณ์คดีของผู้กระทำผิด รวมทั้งรายละเอียดหลักฐานต่าง ๆ ของผู้กระทำผิด โดยพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้นำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์ประเมิน และจัดทำรายงาน พร้อมความเห็นเพื่อประกอบดุลพินิจของผู้มีอำนาจในการพิจารณาว่าจะใช้มาตรการใดจึงเหมาะสมกับผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคล

      1.2 งานคุมความประพฤติ (ควบคุมและสอดส่อง)

           งานคุมความประพฤติ เป็นกระบวนการควบคุม สอดส่อง ติดตาม ดูแล ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือผู้กระทำผิดภายใต้เงื่อนไขการคุมความประพฤติ เพื่อช่วยให้ผู้กระทำผิดปรับปรุงแก้ไขนิสัย ความประพฤติ    จนสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขและไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

 

  1. การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

     การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในระบบบังคับบำบัด ถือว่าผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วยมิใช่อาชญากร   จึงนำเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติด ยาเสพติด พ.ศ. 2545 โดยมีการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่

       2.1 งานตรวจพิสูจน์

             การตรวจพิสูจน์ เป็นการแสวงหาและประมวลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ เพื่อวิเคราะห์และประเมินองค์ประกอบ ทางกาย จิตใจ และสังคม ว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์เป็นผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดหรือไม่พร้อมทั้งกำหนดแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่เหมาะสมสำหรับผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดแต่ละรายนั้น

      2.2 งานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

           งานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นการดำเนินการบำบัดอาการติดยาเสพติดและฟื้นฟู  สภาพร่างกายและจิตใจของผู้ติดยาเสพติด  รวมถึงการเตรียมความพร้อมทางร่างกายและจิตใจของผู้เสพ  ยาเสพติดให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุขซึ่งแบ่งออกเป็นการฟื้นฟูฯ  แบบควบคุมตัวและการฟื้นฟูฯ แบบไม่ควบคุมตัว

     2.3 งานติดตามผล

          งานติดตามผล เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยการติดตามดูแลและช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ที่ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้ว เป็นระยะเวลา 1 ปี

 

  1. การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด

    การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเป็นการปฏิบัติงานของพนักงานคุมประพฤติในการปรับเปลี่ยน แก้ไข และเสริมสร้างคุณลักษณะทางจิตใจ พฤติกรรม และนิสัยความประพฤติของผู้กระทำผิด ด้วยกระบวนการ/วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เรียกว่า กิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูหรือโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟู ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้กระทำผิดมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะของการมีพฤติกรรมที่พึงปรารถนา เคารพกฎระเบียบของสังคม ไม่กระทำผิดกฎหมาย มีคุณภาพชีวิตและสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม  ได้อย่างมีความสุข การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด เป็นส่วนหนึ่งของงานควบคุมและสอดส่อง โดยการให้ความช่วยเหลือ แนะนำ แก้ไข ปรับปรุง และส่งเสริมให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้กลับตนเป็นพลเมืองดี ด้วยกิจกรรมหลักต่าง ๆ เช่น การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา การอบรมให้ความรู้และฝึกทักษะชีวิต การจัดให้เข้าค่ายจริยธรรม การจัดให้ทำงานบริการสังคม การเข้าค่ายยาเสพติด  รวมทั้งการให้การสงเคราะห์ด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข และป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

 

  1. การสงเคราะห์ผู้กระทำผิด

    การสงเคราะห์ผู้กระทำผิด ที่กรมคุมประพฤติได้ดำเนินการประกอบด้วย การสงเคราะห์ผู้กระทำผิดระหว่างคุมประพฤติ และการสงเคราะห์ผู้กระทำผิดภายหลังปล่อยหรือภายหลังพ้นการคุมความประพฤติ เป็นการช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในการแก้ไขฟื้นฟูและฝึกฝนตัวเองของผู้กระทำผิด เพื่อให้ผู้กระทำผิดสามารถช่วยเหลือตนเองและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามสมควร และไม่หวนกลับไปกระทำผิดอีก โดยมีบริการให้การสงเคราะห์ เช่น การให้การศึกษา การส่งเสริมด้านการหางาน การฝึกอาชีพ การสงเคราะห์ด้านทุนประกอบอาชีพ ค่าอาหารและค่าพาหนะ เป็นต้น

 

  1. การทำงานบริการสังคม

    งานบริการสังคม เป็นมาตรการเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดประการหนึ่ง ด้วยการให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดได้ทำงานรับใช้สังคม โดยการมอบหมายงานให้ทำ ซึ่งผู้กระทำผิดจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ แต่ขณะเดียวกันการได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม ส่งผลให้ผู้กระทำผิดเกิดความรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า ทั้งการทำงานจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์และให้โอกาสผู้กระทำผิดได้ฝึกหัด เรียนรู้  ทดสอบความสามารถ พัฒนาความมีวินัย ความรับผิดชอบ เสริมสร้างสมาธิ ทักษะในการทำงาน รวมทั้งการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล

 

  1. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

    กรมคุมประพฤติได้นำภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจดังนี้

        6.1 งานอาสาสมัครคุมประพฤติ

             งานอาสาสมัครคุมประพฤติ มีหลักการอยู่บนพื้นฐานแนวความคิดการมีส่วนร่วมของประชาชน    ซึ่งกรมคุมประพฤติมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนที่มีความสนใจ เสียสละ มีคุณสมบัติเหมาะสม สมัครเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน แสวงหาข้อเท็จจริง การติดตาม การสอดส่อง รวมทั้งการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการคืนคนดีสู่สังคมอาสาสมัครคุมประพฤติ (อ.ส.ค.)

      6.2  โครงการเครือข่ายยุติธรรมชุมชน

            โครงการเครือข่ายยุติธรรมชุมชน ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกระทรวงยุติธรรมในฐานะเป็นหุ้นส่วนและมีบทบาทในการดำเนินงาน เช่น การป้องกันและแก้ไขอาชญากรรม การแก้ไขและฟื้นฟูและช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้กระทำผิด การลดข้อพิพาทความขัดแย้งในชุมชน เป็นต้น  และได้อบรมพัฒนาให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกเครือข่ายยุติธรรมชุมชนเกี่ยวกับบทบาทภารกิจของกระทรวงยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานร่วมกับภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้มีการรวมตัวของสมาชิกเครือข่ายยุติธรรมชุมชนในการจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชน เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการสร้าง ความเข้มแข็ง ความเป็นธรรมและความสงบสุขแก่ชุมชนและสังคมต่อไปสมาชิกเครือข่ายยุติธรรมชุมชน

 

 

อำนาจหน้าที่

(1) ดําเนินการสืบเสาะและพินิจ ควบคุมและสอดส่อง แก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์ผู้กระทําผิดในชั้นก่อนฟ้อง ชั้นพิจารณาคดีของศาล และภายหลังที่ศาลมีคําพิพากษาตามที่กฎหมายกําหนด

(2) ดําเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

(3) ส่งเสริมและสนับสนุนเกี่ยวกับการดําเนินการแก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์ผู้กระทําผิดในชุมชน

(4) พัฒนาระบบ รูปแบบ และดำเนินการสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เพื่อบรรเทาผลร้ายหรือการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิด

(5) พัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการปฏิบัติต่อผู้กระทําผิดในชุมชน

(6) จัดทําและประสานแผนงานของกรมให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนแม่บทของกระทรวง รวมทั้งเร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัด

(7) เสริมสร้าง สนับสนุน ส่งเสริม และประสานงานให้ชุมชน เครือข่ายและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบเครือข่ายยุติธรรมชุมชนหรือรูปแบบอื่นในการป้องกันสังคมจากอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทําผิดและผู้ที่อยู่ในกระบวนการคุมประพฤติของกรม

(8) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ผู้บริหาร

 นายพิพัฒน์ ว่องธีรกิจโกศล
ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดภูเก็ต

 

    มี 26 ผู้มาเยือน และ ออนไลน์

  ผู้เยี่ยมชมวันนี้ 22
  ผู้เยี่ยมชมเมื่อวานนี้ 51
  ผู้เยี่ยมชมสัปดาห์นี้ 286
  ผู้เยี่ยมชมเดือนนี้ 543
  ยอดผู้เยี่ยมชม 39399